วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วิจารณ์ หนัง บางระจัน 2

เมื่อ 10 ปีที่แล้วภาพยนตร์สงครามอิงประวัติศาสตร์ของไทยเรา ไม่มีเรื่องไหนดังเท่าเรื่อง “บางระจัน” เป็นแน่ เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ก็สามารถกวาดรายได้ถึงร้อยกว่าล้านบาท นับเป็นสถิติรายได้อันดับต้นๆ ของภาพยนตร์ไทยในช่วงนั้นเลยทีเดียว นอกจากรายได้ที่เป็นอันดับต้นๆ แล้ว ทั้งนักแสดง, ตัวผู้กำกับและทีมงานยังได้รับรางวัลในสาขาทางภาพยนตร์ต่างๆอีกมากมายจาก หลายสถาบัน

จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ 10 ปีเข้าไปแล้ว ใครจะไปรู้ว่าภาพยนตร์เรื่องบางระจัน จะสามารถทำภาคต่อได้ เป็น บาง ระจัน 2 ก็ในเมื่อภาคแรกนั้นจบอย่างสมบูรณ์แล้ว นักสู้ทั้ง 11 คนที่เป็นตัวเด่นๆ ตายเรียบ ค่ายบางระจันแตกกระเจิง ชาวบ้านหนีไปคนละทิศคนละทาง

แม้ว่าภาพยนตร์บางระจันภาคแรกจะจบลงไป แล้ว แต่จินตนาการของนักสร้างหนังอย่างคุณธนิตย์ จิตนุกูล ยังคงไม่ได้จบไปง่ายๆ ถึงแม้ว่าเรื่องบางระจัน 2 นี้จะเป็นเรื่องที่แต่งหรือจินตนาการขึ้นมาล้วนๆ แต่ด้วยเหตุและผลที่ยังสามารถอ้างอิงประวัติศาสตร์ในส่วนที่ยังคงเหลืออยู่ น้อยนิด ก็สามารถทำให้ ภาพยนตร์เรื่องบางระจัน 2 สร้างออกมาได้ใกล้เคียงกับภาคแรกมากที่สุด

หลังจากค่ายบางระจันแตก แล้ว ต้องใช้เวลาอีก 8 เดือน กรุงศรีฯถึงจะแตก ก็จะใช้เวลา 8 เดือนนี้แหละนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องบางระจัน 2 เพราะช่วงเวลา 8 เดือนที่เหลือก่อนกรุงศรีฯแตก น่าจะมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้น การจับคนไทยเป็ยเชลย การปล้นเสบียงอาหาร ของกองโจร ที่แบ่งเป็นแค้วนต่างๆ

ตัว หนังในภาคนี้จะเน้นไปที่หลวงพ่อธรรมโชติ (แสดงโดยคุณธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง) ที่กล่าวอ้างว่า หลังจากค่ายบางระจันแตก พระธรรมโชติก็หนีมาอยู่ที่ชุมนุมเขานางบวช และที่เขานางบวชนี้เองที่มีนักรบรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น

คุณธนิตย์ จิตนุกูล ที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ กล้ามากที่ได้เอาสัญลักษณ์ สีแดง และ สีเหลือง มาเล่นกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งคุณธนิตย์อาจจะต้องการให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นสื่อให้คนไทยสามัคคีกันก็ได้ โดยในเรื่องจะอ้างถึงกลุ่มทหารกรุงศรีฯ ที่ถูกส่งมาประจำด้านนอกเมืองโดยมีพระยาสิงหนาถ หรือ พระยาเหล็ก (แสดงโดยคุณฉัตรชัย เปล่งพานิช) เป็นแม่ทัพนำทับมา สัญลักษณ์ของทหารกลุ่มนี้ก็คือ “สีแดง” แต่ถูกทหารของพม่าตีโต้จนเสียท่า แต่มีพวก “นักรบผ้าประเจียด” เข้ามาช่วยไว้แล้วนำผู้รอดชีวิตไปอยู่ในค่ายเดียวกัน นักรบผ้าประเจียด ก็เป็นนักรบที่อยู่ในการดูแลของพระธรรมโชติ มีสัญลักษณ์เป็น “สีเหลือง” (นักรบทุกคนจะพกผ้าประเจียดที่เป็นสีเหลืองของหลวงพ่อธรรมโชติเอาไว้) การนำสีแดงมาอยู่กับสีเหลืองในที่ๆเดียวกัน ในเรื่องนี้ก็คือค่ายเขานางบวช สีแดงคิดดี ส่วนสีเหลืองก็คิดดี แต่ทั้งสองกลุ่มจะปะทะกันในค่ายด้วยความขัดแย้งทางความคิด จนเกิดการกระทบกระทั้งกัน จนพระธรรมโชติต้องออกมาห้าม “นี่มึงจะกัดกันไปทำไม บ้านเมืองยังเดือดร้อนไม่พออีกหรือ!” แม้ผลสรุปแล้วก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสีเหลืองหรือสีแดงเป็นฝ่ายชนะ แต่ตรงกันข้าม ตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ให้คำตอบของสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี ถึงความสามัคคีของสีแดงและสีเหลือง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสื่อถึง เรื่องการเสียสละอีกหลายๆ อย่าง เสียสละลูกเมีย เสียสละคนที่เรารัก เสียสละชีวิต เพื่อรักษาสิ่งที่ถูกต้องเอาไว้ และจะเห็นว่า การสงครามไม่ได้ให้อะไรที่เป็นสิ่งที่ดีเลย นอกจากการสูญเสียทั้งสิ้น ในฉากซึ้งๆ ผมยังแอบมีน้ำตาคลออยู่บ้าง

นักแสดงทุกคนเล่นได้ ดี โดยเฉพาะคุณภาราดร ศรีชาพันธุ์ ที่แสดงเป็นนายมั่น แม้ว่าจะเป็นการแสดงเรื่องแรกของเขา แต่ก็ทำได้ดีมากครับ อาจจะเป็นเพราะคุณบอลเป็นนักกีฬาด้วย การออกท่าทางเลยทะมัดทะแมงดี สมชายชาตินักสู้ดี อีกคนที่เล่นได้ดีมากคือ คุณภูริ หิรัญพฤกษ์ ที่เล่นเป็น นายแดง หลังจากหายหน้าหายตาไปหลายปี เรื่องล่าสุดก็คงเป็นเรื่อง คนหิ้วหัว ที่คุณภูริเล่นไว้ จากนั้นก็หายไปเลย การมารับบทนายแดงครั้งนี้ เสมือนเป็นการเคาะสนิมของคุณภูริเลยทีเดียว เล่นดีครับ สำหรับคุณบ่าววี (วีรยุทธิ์ นานช้า) ผมเห็นหน้าครั้งแรกในหนังเรื่องนี้และอดนึกถึงนักแสดงที่ชื่อ เขาทราย กาแล็กซี่ ไม่ได้ ด้วยคาแร็คเตอร์ ท่าทาง หน้าตาให้เลย เป็นตัวเรียกเสียงฮาเล็กๆให้ได้พอสมควร ส่วนคุณนก ฉัตรชัย นั้นคงไม่ต้องผพูดถึง คนนี้ขั้นเทพแล้ว.. ส่วนนักแสดงฝ่ายหญิง ไม่ว่าจะเป็น จำปี ,ชบา, มะขาม หรือ ลำดวน ลั้วนแต่เป็นผู้สร้างสีสันให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ดูสนุกยิงขึ้น ผมชอบฉากนักแม่นธนู และนักแม่นปืน ของนักสู้เขานางบวชมาก ดูแล้วเท่ดีตอนรบ สุดยอดมาก เก่งโคตรๆ

ขอชมทีมเขียนบทเรื่องนี้ ที่สามารถนำเอาฮีโร่ทั้ง 11 คนในภาคที่แล้ว มาใส่ในเรื่องนี้ได้อย่างลงตัวไม่มีที่ติ แม้ว่าตัวละครทั้ง 11 คนจากภาคที่แล้วตายเรียบแล้วก็ตาม แต่นำมาเป็นแรงขับในการต่อสู้ของนักสู้รุ่นใหม่ได้อย่างมีพลังเลยทีเดียว สุดยอดครับ

เสียงดนตรีประกอบเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ดูรู้สึก ตื่นเต้นไปกับภาพยนตร์เรื่องนี้มาก ในการนั่งชมภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นอะไรที่น่าติดตามทั้งแต่ต้นจนจบโดยที่ไม่เบื่อเลย ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากเสียงดนตรีประกอบนี่แหละ ที่คอยปลุกให้คนดูติดตามอยู่ตลอดเวลาว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไป
ส่วน เพลงประกอบตอนจบเรื่องที่เป็นเสียงร้องของคุณแอ๊ด คาราบาว น่าจะเอามาใส่ไว้ตอนสู้รบครั้งสุดท้ายนะครับ น่าจะดีกว่าเอาไปเปิดตอนให้เครดิตหนังท้ายเรื่อง

สำหรับตอนจบก็ยังคงเหมือนในภาคแรก จะเกิดอะไรขึ้นต่อนั้นจะถูกทิ้งเอาไว้เป็นปริศนา ซึ่งหลายๆ คนก็หาคำตอบได้แล้ว แต่นั่นก็คือจินตนาการของแต่ละคนไป ว่าชาวบ้านจากค่ายเขานางบวชจะสามารถสู้รบกับกองทัพพม่าที่มีมากมายได้ไหม (ดูถึงฉากนี้แล้วนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง 300) พระธรรมโชติจะเป็นยังไงต่อหลังจากถูกตามล่าถึงขนาดนั้น.. แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็ยังชอบการทิ้งปริศนาของพระธรรมโชติ พวกพม่าจะกลัวพระธรรมโชติมาก เพราะว่าพระธรรมโชติเป็นเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ เป็นผู้นำที่มีคนรัก คนศรัทธา คนนับถือมากที่สุด พวกพม่าจึงจำเป็นต้องกำจัดพระธรรมโชติให้ได้ แต่ปริศนาที่พระธรรมโชติทิ้งเอาไว้กับพวกพม่าก็คือ “ตราบใดที่มึงยังรุกรานข่มเหงรังแกชาวบ้าน มันก็จะมีบางระจันไม่มีที่สิ้นสุด” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “บางระจันยังไม่ตาย”

อยากให้คนไทยไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ครับ นอกจากได้ความบันเทิงแล้ว ยังได้อะไรกลับมาอีกมากมาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำออกมาได้ในช่วงจังหวะเหมาะพอดีกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่ ขัดแย้งทางด้านความคิดกันอยู่ ดูแล้วจะฉุกคิดเปล่าก็ไม่รู้ แต่ผมก็เชื่อแน่ว่าถ้าเป็นคนไทย ในส่วนลึกๆ แล้ว คนไทยทุกคนรักกันมากเหมือนในภาพยนตร์เรื่องนี้ ถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบผลสำเร็จเหมือนภาคแรก และทำให้คนไทยรักกันมากยิ่งขึ้น ผมว่าจะต้องมีบางระจันภาค 3 ภาค 4 ต่อ ออกมาอีกแน่นอน และตอนนี้ผมจะเชื่ออย่างสนิทใจเลยว่า “บางระจันยังไม่ตาย” ครับ

ที่มา. http://movie.sanook.com/review/review_17018.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น